วันพฤหัสบดีที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2553

หก | คิด | หมวก

 

Innovative Thinking 27.8.2010

วันนี้จะนำเสนอเทคนิคในการระดมสมอง หรือ brainstorming อย่างหนึ่ง ที่มีชื่อเสียงนั่นก็คือ “เทคนิคการคิดแบบหมวกหกใบ หรือ Six Thinking Hats” เป็นเทคนิคง่ายๆที่ได้ผลดีเกินคาด เหนือกว่าการระดมสมองธรรมดาตรงที่ทำให้เรามองปัญหาได้ครบทุกมุมมอง เทคนิคนี้คิดค้นโดย เอ็ดเวิร์ด เดอ โบโน (Edward de Bono) เพราะฉะนั้น วันนี้เราจะไปสัมภาษณ์คุณเดอ โบโนเกี่ยวกับเทคนิคนี้กันครับ!

หมายเหตุ: P แทน พิธีกร D แทนคุณเดอ โบโน

image
Edward De Bono

image

Piteegorn

 

P: สวัสดีครับ คุณเอ็ดเวิร์ด เดอ โบโน ยินดีต้อนรับเข้าสู่ Innovative Blog ของเราครับ

D: ครับ สวัสดีครับ คุณ..เอ่อ..

P: พิธีกร ครับ (ยิ้ม)

D: เอ้อ.. ครับ สวัสดีครับ คุณพิธีกร ผมเดอ โบโน รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับเชิญมาพูดใน blog ของคุณ

P: เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เรามาเริ่มกันเลยดีกว่าครับ ก่อนที่จะถามเกี่ยวกับทฤษฎีอันเลื่องชื่อของคุณ ขออนุญาตถามเรื่องส่วนตัวเล็กน้อย ไม่ทราบว่าคุณเดอ โบโน เต็มใจที่จะตอบมั้ยครับ?

D: สบายมากครับ ว่ามาเลย

P: มีคนบอกว่าคุณเดอ โบโน เป็นญาติห่างๆกับโบโน วง U2 ไม่ทราบว่าจริงเท็จแค่ไหน อย่างไรครับ?

D: ครับ คือโบโน เป็นหลานของลูกของปู่คนที่สามของแม่ผมน่ะครับ แต่..เอาเถอะครับ มันไม่สำคัญเท่าไหร่ ผมก็ไม่เข้าว่ามันเป็นประเด็นขึ้นมาได้ยังไง เอาเป็นว่า คุณพิธีกรช่วยเข้าเรื่องเลยดีกว่าครับ

image

P: โอเคครับ มาเข้าเรื่องของเรากันดีกว่า วันนี้ผมจะถามคุณเกี่ยวกับเรื่อง “การคิดแบบหมวกหกใบ” ของคุณ ที่ตีพิมพ์เป็นหนังสือในปี 1985 ไม่ทราบว่าทำไมต้องเป็นหมวกหกใบล่ะครับ? ทำไมไม่เป็นทีวีเจ็ดเครื่อง หรือ เป็ดหกพันเก้าร้อยเจ็ดสิบห้าล้านตัว?

D: ตอบทีละคำถามละกันนะครับ เหตุผลที่ผมเลือกหมวกเพราะว่า หนึ่ง หมวกเป็นสัญลักษณ์ทางสังคมอย่างหนึ่ง สอง หมวกสามารถสวมใส่ หรือถอดออกง่าย และสาม หมวกเป็นอะไรที่เข้าใจง่าย ทุกคนรู้จักหมวก..

หลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจครับ แต่ลองฟังเทคนิคการคิดของผมก่อน แล้วย้อนกลับมาคิดตามใหม่ ก็จะเข้าใจที่ผมพูดครับ

ส่วนเหตุผลที่ทำไมต้องเป็นเลขหก ก็สืบเนื่องมาจากผลการวิจัยของนักจิตวิทยาบอกไว้ว่าคนทั่วไปจะจำสิ่งของหรือตัวเลขได้อย่างแม่นยำ ถ้าสิ่งของหรือตัวเลขนั้นมีจำนวนอยู่ในช่วงระหว่าง 5-7 ชิ้น(หลัก) แต่เหตุที่ผมเลือกหกเพราะว่าผมเผื่อที่ไว้ให้หมวกอีกใบที่ผมยังคิดไม่ออกในตอนนี้

P: โอ้โห! เป็นอะไรที่ลึกซึ้งมากครับ ผมนึกว่าที่คุณเลือกหมวกเพราะว่าคุณหัว…ซะอีก (ฮา)

D: ไม่ขำครับ (หงุดหงิด)

P: ฮ่ะๆ ล้อเล่นครับ (ฮา) ต่อครับ..อยากทราบว่าหมวกทั้งหกใบของคุณมีอะไรบ้าง และแต่ละใบเกี่ยวข้องกับการคิดอย่างไร?

D: อ่าครับ..ก่อนอื่นขอกล่าวสั้นๆเกี่ยวกับการคิดแบบหมวกหกใบก่อน เริ่มจากเรามีปัญหาที่ต้องแก้ไข หรือหัวข้อที่ต้องอภิปราย ที่เราต้องการหาทางแก้ หรือทางออก หมวกแต่ละใบแทนมุมมองในด้านต่างๆที่มีต่อปัญหานั้น โดยแบ่งตามสีหมวก ดังนี้..

image

 

หมวกสีขาว คือหมวกแห่งข้อเท็จจริง มองว่าข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับปัญหาของเรามีอะไรบ้าง? ต้องมองอย่างเป็นกลาง ไม่ใส่อารมณ์ ความรูสึกใดๆ

image

 

หมวกสีเหลือง คือหมวกแห่ง Positive Thinking มองหาด้านบวก/ข้อดี/ผลประโยชน์ของประเด็นที่กำลังพูดถึง

image

 

หมวกสีแดง คือหมวกแห่งอารมณ์ ไม่ต้องคิด ไม่ต้องมองหา รู้สึกยังไง พูดก็ออกมาอย่างนั้น เอาความรู้สึกแวบแรกที่เข้ามา

 image

หมวกสีเขียว คือหมวกแห่งความคิดสร้างสรรค์ ใช้ความคิดสร้างสรรค์ แก้ไขปัญหา โดยการหาทางออกร่วมกันที่ทุกฝ่ายพอใจ

 

image

 

หมวกสีดำ คือหมวกแห่งการระแวดระวัง มองหาข้อเสีย ข้อควรระวัง ตั้งข้อสงสัยในประเด็นที่กำลังพูดถึง

 

image

 

หมวกสีน้ำเงิน คือหมวกแห่งการควบคุม ทำหน้าที่ควบคุมหมวกสีอื่นๆ ควบคุมการถอดหมวกใส่หมวก เปรียบเสมือนประธานในที่ประชุม

 

ครับ ไม่ยากใช่มั้ยครับสำหรับหมวกแต่ละสี ข้อแนะนำในการใช้คือ ทุกคนควรใส่หมวกให้ครบทุกใบ ในตอนแรกทุกคนมองไปในมุมเดียวกัน แต่ในที่สุด ทุกคนจะมองครบทุกมุม

P: โอ้ววววววว มหัศจรรย์มากครับ เป็นเทคนิคง่ายที่ได้ผลดีจริงๆด้วย ทำให้เกิดการคิดอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่ทุกคนมานั่งเถียง นั่งค้านกันในเรื่องไร้สาระ แถมผลสุดท้ายนอกจากจะเสียเวลา แล้วยังไม่ได้ข้อสรุปอะไรอีกด้วย ก็อยากจะฝากเทคนิคอันนี้ให้ทุกคนไปใช้ในชีวิตประจำวัน

D: ถูกต้องครับ เอ๊ะ..คุณนี่ พูดจามีสาระก็เป็นเนอะ..

P: แหะๆ..วันนี้ก็ต้องขอขอบคุณคุณเดอ โบโน มากนะครับ ที่มาให้สาระดีๆมีประโยชน์ ใน blog ของเรา ขอบคุณมากครับ (sfx: เสียงปรบมือ)

ครับ สุดท้ายนี้ คุณเดอ โบโน มีอะไรจะฝากถึงผู้ชมทางบ้านมั้ยครับ?

D: หนังสือ Six Thinking Hats ของผม สามารถซื้อได้ตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป อย่าลืมไปอุดหนุนกันด้วยล่ะครับ ถ้าหาไม่เจอจริงๆแนะนำให้สั่งซื้อผ่าน amazon ครับ ขอบคุณมากครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น