วันพฤหัสบดีที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2553

กว่าจะมาเป็น Facebook

 

facebook ที่จะพูดถึงในคราวนี้ ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆกับ facebook ที่เป็น social network แต่มันคือชื่อของ Individual Project วิชา Innovative Thinking ของ จขบ นั่นเอง!!!!

หลังจากได้รับมอบหมายงานไปซักระยะหนึ่ง จขบ ก็เริ่มตระหนักได้ว่าควรจะเริ่มคิดเริ่มทำโครงงานชิ้นนี้ในขณะที่ยังพอมีเวลาว่างเหลืออยู่ ซึ่งสิ่งที่ จขบ อยากทำแต่ยังไม่มีโอกาสได้ทำ คือ หนุังสือทำมือ แต่!!! เนื่องจาก ข้อจำกัดด้านไอเดีย และเวลา (และความขี้เกียจอีกเล็กน้อย) ทำให้ตัดสินใจทำอะไรที่ง่ายกว่านั้น นั่นก็คือ..สมุด(กึ่ง)ทำมือ!!

ข้อดีของสมุดกึ่ง(ทำ)มือ ได้แก่

1. ทำง่าย ไม่ต้องใช้ความสามารถเฉพาะทาง

2. ขั้นตอนเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน ใครๆก็ทำได้

3. ประหยัด ใช้วัสดุเหลือใช้เป็นส่วนใหญ่

4. นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง

5. ช่วยลดภาวะโลกร้อน(?)

6. ได้คะแนน!!!!!!

สำหรับขั้นตอนในการทำนั้น ขั้นแรกเริ่มจากการเตรียมอุปกรณ์ ซึ่งได้แก่…

1. สมุดเปล่าๆ เรียบๆหนึ่งเล่ม

2. นิตยสารเก่าๆจำนวนหนึ่ง

3. กระดาษแข็ง

4. เชือกสวยๆ

5. อุปกรณ์ตัด และติดเชื่อม ได้แก่ กรรไกรและกาวหลากชนิด

และ 6. ความมุ่งมั่นในการทำ =)

  DSC00048

หลังจากเตรียมอุปกรณ์ครบแล้ว ก็ลงมือทำกันได้เลย!

1. ฉีกภาพที่ชอบที่ชอบจากนิตยสารล้านกว่าฉบับ

DSC00051

2. แยกส่วนที่เป็นกระดาษสมุดออกจากปกสมุด

DSC00109

3. ลงมือแปะรูปจากนิตยสารลงบนปกสมุด โดยคำนึงถึงความดูดี และสวยงาม (ใช้กาว LATEX)

DSC00058

4. เทกาว LATEX ปริมาณมากลงบนปกสมุด จากนั้นรอให้มันแห้ง เพื่อเป็นการเคลือบปก

DSC00116

5. จากนั้นทำ face collapse โดยการเลือกตัดส่วนต่างๆของใบหน้าจากนิตยสารมาประกอบกัน แล้วติดลงบนกระดาษแข็ง

DSC00057 DSC00059

6. ตัดขอบของส่วนปกให้เรียบร้อย รวมส่วนของปก กับไส้กลับเข้าด้วยกัน ด้วยการผูกเชือก(สวยๆ)

เพียงเท่านี้ ก็จะสามารถเปลี่ยนสมุดธรรมดาๆที่น่าเบื่อให้กลายเป็น facebook!!

image

 

ทุกคนคงเห็นว่าขั้นตอนมันง่ายอย่างที่โฆษณาไว้ตอนแรกจริงๆ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการตกแต่งสมุด แม้จะไม่ได้เป็นอะไรที่แปลกใหม่ แต่ จขบ ก็รู้สึกสนุกที่นานๆทีจะได้ทำอะไรแบบนี้ หวังว่าทุกคนจะสนุกกับการทำชิ้นงานของตัวเองเช่นกัน =)

วันอังคารที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2553

SCAMPER

 

Innovative Thinking 17.8.2010

imageimage 

SCAMPER ไม่ใช่ทั้งเกมครอสเวิร์ด (Scrabble) และไข่คน (Scramble) แต่ SCAMPER เป็นชื่อเครื่องมือสำหรับพัฒนาความคิดสร้างสรรค์แบบหนึ่ง

image

SCAMPER เป็นตัวย่อของ

S – Substitute ทดแทน

ได้แก่ การเปลี่ยนองค์ประกอบ

เช่น ไอศกรีมซันเดย์ ในสมัยก่อนไอศกรีมมีส่วนผสมหลักคือโซดา แต่มีบางรัฐในสหรัฐฯออกกฎหมายห้ามจำหน่ายโซดาในวันอาทิตย์ จึงมีคนคิดใช้ไซรัปแทนโซดา มีชื่อว่าไอศกรีมซันเดย์ เพราะว่าขายเฉพาะในวันอาทิตย์

image

การเปลี่ยนวัสดุ

เช่น บ้านดิน เป็นบ้านที่สร้างจากดินทั้งหลัง มีจุดเด่นคือใช้เวลาสร้างเพียง 5-6 วันต่อหลัง

C – Combine ผสมผสาน

ได้แก่ ผสมผสานรูปลักษณ์ เช่น บอลลูนรูปร่างต่างๆ

image

ผสมผสานวัสดุ เช่น คอนกรีต + Fiber Optic = คอนกรีตโปร่งแสง

image

A – Adapt  ปรับสิ่งอื่นมาใช้ (ไม่ใช่การลอกเลียนแบบ!!! -- การนำศาสตร์หนึ่งมาใช้กับอีกศาสตร์หนึ่ง)

เช่น Velcro (ตีนตุ๊กแก) ได้แนวคิดมาจาก หญ้าเจ้าชู้

image

mouse ได้แนวคิดเรื่องรูปลักษณ์มาจาก หนู

จ่าเฉย ได้แนวคิดมาจาก หุ่นไล่กา

รถเพรียวลม ได้แนวคิดเรื่องสรีระจาก ปลาปั๊กเป้า

image

M – Modify ปรับปรุง และ Magnify ขยายให้ใหญ่ขุึ้น

ตัวอย่างของการปรับปรุง ได้แก่ การปรับปรุงรูปลักษณ์ เช่น เข็มฉีดอินซูลินที่มีหน้าตาเหมือนปากกา เพื่อให้ผู้ป่วยพกพาไปใช้นอกสถานที่ได้สะดวก ไม่ต้องแคร์สายตาชาวบ้าน

image image

การปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ เช่น กระป๋องสี Dutch Boy ซึ่งใช้ระบบกระป๋องพลาสติกหมุนแล้วเท มีฝาปิดแบบหมุน ปากกระป๋องมีพวยสำหรับเท รวมทั้งมีหูหิ้วด้วย

P – Put to other use ประยุกต์ (เอางานของเราไปใช้กับสิ่งอื่น หรือตลาดอื่น)

เช่น เกม Wii สามารถใช้ในการออกกำลังกาย

เฮลิคอปเตอร์บังคับที่ใช้ iphone คุวบคม

image

E – Eliminate กำจัด

ตัดส่วนที่ไม่จำเป็นออก เช่น โดนัทมีรูตรงกลางเพื่อให้สุกทั่วถึงทั้งชิ้น iphone ตัดแป้นพิมพ์ออก ใช้ระบบสัมผัสแทน หรือ ชุดนักบินอวกาศในอนาคต ซึ่งเน้นความกะทัดรัด

image 

และสุดท้าย R – Reverse มองย้อนกลับ / Rearrange จัดเรียงใหม่

เช่น ดีไซน์แบบย้อนยุค  เป็นต้น

จบแล้วครับ!!!

สำหรับวันนี้ ก็ต้องขอลาไปก่อน พบกันใหม่คราวนะครับ

วันศุกร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2553

วิทยากรทั้งสาม

 

Innovative Thinking 10.8.2010

ชั้นเรียน Innovative Thinking ในวันนี้ถือไม่ธรรมดาเลยทีเดียว เนื่องจากมีวิทยากรพิเศษมาพูดถึงสามท่าน และทั้งสามต่างก็ประกอบอาชีพที่แตกต่างกันไป มีแนวคิด ประสบการณ์ ความรู้ที่แตกต่างกัน

ท่านแรก เป็นนักวิชาการเกม ซึ่งได้รับรางวัลต่างๆมากมาย เกมต่างๆของท่านก็ล้วนแต่สอดแทรกความรู้ต่างๆไว้อย่างแน่นปึ้ก เรียกได้ว่า ได้ทั้งความสนุก และความรู้ วันนี้ท่านได้มาบรรยายให้พวกเราฟังในหลายๆประเด็น หลักๆก็ได้แก่ กลไกระบบของโลกในปัจจุบัน เกี่ยวกับการวางระบบโลกของอเมริกา ท่านบอกว่าทุกวันนี้ประเทศที่มีอำนาจสูงสุดในโลกนี้คืออเมริกา นอกสุริยะ ดูเหมือนว่าท่านวิทยากรจะสนใจในเรื่องนี้เป็นที่สุด ท่านชอบอะไรๆที่อยู่ไกลตัว ลึกลับน่าค้นหา และสุดท้ายเรื่องนวัตกรรมสังคม ท่านเน้นในเรื่องนี้มาก การคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆควรจะคำนึงถึงประโยชน์ต่อส่วนรวมด้วย

วิทยากรท่านต่อมาเป็นแพทย์ไทยแผนโบราณ ในขณะเดียวกันก็ถือว่าท่านเป็นนวัตกรด้วย ท่านได้รับรางวัลต่างๆมากมายเกี่ยวกับผลงานความคิดสร้างสรรค์ทั้งระดับประเทศ แและระดับนานาชาติ วันนี้ท่านมาบรรยายเกี่ยวกับเรื่อง แรงใต้ปีก ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้เรามุ่งหน้าไปสู่ความสำเร็จ ในเรื่องนี อ.ธงชัย ได้เสริมว่าคำว่าแรงใต้ปีกตรงกับเพลง “The Wind Beneath My Wings” (ไม่แน่ใจว่าถูกเพลงหรือเปล่า)

วิทยากรท่านสุดท้าย เป็นเจ้าของบริษัทเครื่องฟอกอากาศแม่เหล็กไฟฟ้า “Alpine” มาบรรยายเกี่ยวกับเรื่องการสร้างแบรนด์ และการปั่นเว็ปไซต์ให้ติดอันดับหนึ่ง google ซึ่งท่านมีเทคนิคมีชวนให้ติดตาม และเรียกเสียงฮาได้อยู่ตลอด

alpinefilter_banner1

สำหรับการเรียนการสอนในวันนี้ นอกจากจะเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศแล้ว ยังทำให้ได้รับความรู้ และประสบการณ์ใหม่อีกด้วย ต้องถือว่าชั้นเรียน Innovative Thinking ของเราโชคดีมากที่ท่านวิทยากรทั้งสามให้เกียรติมาบรรยาย ต้องขอขอบคุณไว้ด้วย ณ ที่นี้

วันอังคารที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2553

13 Days to Final Exam

 

image

การอ่านหนังสือไม่ทันเป็นเรื่องปกติของชีวิตการเป็นนิสิตนักศึกษา เทอมแล้วเทอมเล่าที่เราปล่อยให้มันเกิดขึ้นเป็นวงจรอุบาทว์ แต่เนื่องจากเทอมนี้เราได้เรียนวิชา Innovative Thinking มาแล้ว จึงเป็นโอกาสดีที่จะนำความรู้ในวิชานี้มาประยุกต์ใช้กับชีวิตจริง!!

ซึ่งในวันนี้ จขบ จะนำเครื่องมือที่เรียกว่า Why-Why Diagram มาใช้ในการวิเคราะห์หาสาเหตุว่าทำไมน้า… เราจึงอ่านหนังสือไม่ทัน???

ซึ่งคร่าวๆก็จะได้ Why-Why Diagram ที่มีหน้าตาเช่นนี้..

 

image

ขอให้ทุกคนโชคดีกับการอ่านหนังสือสอบปลายภาค..!!!

NLP

 

หมายเหตุ entry นี้ เป็นหนึ่งใน entry ที่ดองไว้นานมาก เนื่องจากเนื้อหายังไม่ค่อยสมบูรณ์…

คาบเรียน Innovative Thinking ครั้งล่าสุด อ.ธงชัย ไม่ได้สอนอีกแล้ว!! แต่ไม่ได้แปลว่า อ.อู้หรืออย่างไร แต่เป็นเพราะอาจารย์ได้เชิญวิทยากรพิเศษ ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน NLP(???) มาบรรยายในชั้นเรียน นั่นก็คือ คุณชาตรี… (sfx: เสียงปรบมือ)

ก่อนอื่นต้องขอสารภาพก่อนว่าผู้เขียนก็ไม่อาจจะเข้าใจสิ่งที่ได้รับรู้มาได้เต็มร้อย เพราะฉะนั้นกรุณาอย่าเชื่อข้อมูลที่ท่านจะได้รับ โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน..

image

NLP หรือ Neuro Linguistic Programming.. เป็นเหมือนภาษาที่ใช้ในการสั่งการจิตใต้สำนักของเรา เพื่อให้มันทำอะไรๆตามที่เราต้องการได้ โดยปกติจะมีกำแพงบางๆกั้นระหว่างจิตสำนึกกับจิตใต้สำนึก บางคนสามารถใช้แรงใจฝ่าข้ามไปได้ แต่ถ้าแรงใจไม่พอก็จะกระเด็นกลับมาใหม่ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีคู่มือที่ใช้ข้ามกำแพงนั้น หรือเรียกเป็นชื่อหรูๆว่า NLP นั่นเอง

อันดับแรก จะกล่าวถึงขั้นตอนการรับรู้ของคนเราก่อน

1.เมื่อได้รับรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส สมองเราจะกระทำ 3 สิ่ง ดังต่อไปนี้

ลบทิ้ง เราไม่สามารถรับรู้ข้อมูลทั้งหมดได้ จึงมีข้อมูลบางส่วนที่ไม่จำเป็นถูกลบทิ้งไป เช่น ถ้ามีคนถามคุณว่า คุณทิ้งน้ำหนักไว้ที่เท้าซ้ายหรือเท้าขวามากกว่ากัน? ก่อนที่จะถูกถามคุณรู้สึกหรือไม่ หรือว่าต้องคิดก่อนถึงจะรู้สึก ทั้งๆที่ข้อมูลพวกนี้ถูกส่งมาให้เราตลอดเวลา

image

ดัดแปลง ข้อมูลบางอย่างเรารับเข้ามาตรงๆเลยไม่ได้ ข้อมูลพวกนี้จะถูกดัดแปลงให้เข้ากับความคิดของเรา ซึ่งบางครั้งอาจทำให้ข้อมูลผิดเพี้ยนไปจากความจริง

image

และประยุกต์ใช้ ถ้าเราต้องเรียนรู้ใหม่ทุกครั้งที่เจออะไรใหม่คงไม่ดีแน่ เราจึงต้องมีการประยุกต์ใช้จากฐานข้อมูลของเรา ตัวอย่างเช่น ตอนที่เราเห็นแก้วน้ำหน้าตาแปลกๆ เราสามารถรู้ได้ว่ามันคือแก้วน้ำ ทั้งๆที่เราไม่เคยเห็นมันมาก่อน

image

ผ่านทางตัวกรองที่เรียกว่า ความเชื่อ ค่านิยม ศาสนา วัฒนธรรมประเพณี

2.หลังจากรับข้อมูลเข้าสู่สมองแล้ว ข้อมูลเหล่านั้นจะถูกฉายซ้ำอีกทีในสมอง เรียกว่าเป็น ประสบการณ์ภายใน หรือ modality ซึ่งจุดนี้แหละครับ ที่เราจะให้ความสนใจ

ประสบการณ์ภายในจะประกอบด้วยสามส่วน คือ ภาพ (Visual) เสียง (Auditory) และสัมผัส (Kinesthetic) – รวม รส และกลิ่นด้วย ลองนึกถึงเวลาที่เรานึกย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งในอดีตดู ถ้าเราตั้งใจเพ่งสมาธิกับมัน สิ่งที่รับรู้นั่นแหละคือสิ่งที่เรียกว่า ประสบการณ์ภายใน

image

ก่อนอื่น ขอแนะนำให้รู้จักคำว่า Submodality หมายถึง สิ่งที่ใช้ปรุงแต่งประสบการณ์ภายในของเรา ประสบการณ์ภายในเป็นสิ่งที่เราสามารถปรับแต่งได้

เราสามารถใช้ submodality เพื่อเปลี่ยนประสบการณ์ภายในอย่างหนึ่งให้เป็นอีกอย่างหนึ่งได้ เพื่อปรับนิสัยบางอย่างของเรา เครื่องมือที่ต้องใช้คือสิ่งที่เรียกว่า Submodality Checklist ..อย่าพึ่งตกใจไปครับว่ามันคืออะไร

มาดูตัวอย่างหน้าตาของ Submodality Checklist กันก่อน

image

สำหรับวิธีใช้ก็ไม่ยากเลยครับ ขั้นแรก ให้เลือกนิสัยที่เราชอบทำ อดไม่ได้ที่จะต้องทำอยู่เสมอ ทั้งๆที่รู้ว่ามันไม่ดี และเราต้องการจะเลิกนิสัยนั้น เช่น เราชอบกินข้าวขาหมู เห็นเมื่อไหร่เป็นต้องซื้อกิน พยายามจะเลิกกินแล้วแต่ก็ไม่เป็นผล กับอีกนิสัยหนึ่งที่เราไม่ชอบทำ ทำใจทำไม่ได้.. หมายเหตุ!!!! ต้องเป็นเรื่องที่ใกล้เคียงกับที่เลือกอันแรกด้วยนะ เช่นในที่นี้จะเลือก… ไม่ชอบกินทุเรียน แค่ได้กลิ่นก็ต้องเบือนหน้านี้แล้ว

ขั้นต่อมา.. เพ่งสมาธิ นึกถึงตอนที่เรากินข้าวขาหมู รายละเอียด ภาพ เสียง สัมผัส ในตอนนั้นเป็นอย่างไรบ้าง ให้บันทึกไว้ตามหัวข้อใน Submodality Checklist จากนั้น ทำอย่างเดียวกันกับทุเรียนบ้าง โดยก่อนจะเปลี่ยนมาทำ ให้เบนความสนใจของจิตเราจากข้าวหมูก่อน โดยวิธีง่ายๆคือคำนวณเลขง่ายๆ

มาถึงขั้นที่สำคัญ คือ เราจะเปลี่ยนข้าวขาหมูให้กลายเป็นทุเรียน!! โดยก่อนอื่น เพ่งสมาธิ นึกถึงตอนที่เรากินข้าวขาหมู ปรับรายละเอียดของข้าวขาหมู ให้เหมือนกับทุเรียน ตาม Submodality Checklist ที่เราบันทึกไว้ แค่เพียงเท่านี้ก็จะทำให้เราเกลียดข้าวขาหมูมากขึ้น! จริงหรือไม่อย่างไร ก็ขอฝากให้ไปลองทำกันดูนะครับ

วันพฤหัสบดีที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2553

หก | คิด | หมวก

 

Innovative Thinking 27.8.2010

วันนี้จะนำเสนอเทคนิคในการระดมสมอง หรือ brainstorming อย่างหนึ่ง ที่มีชื่อเสียงนั่นก็คือ “เทคนิคการคิดแบบหมวกหกใบ หรือ Six Thinking Hats” เป็นเทคนิคง่ายๆที่ได้ผลดีเกินคาด เหนือกว่าการระดมสมองธรรมดาตรงที่ทำให้เรามองปัญหาได้ครบทุกมุมมอง เทคนิคนี้คิดค้นโดย เอ็ดเวิร์ด เดอ โบโน (Edward de Bono) เพราะฉะนั้น วันนี้เราจะไปสัมภาษณ์คุณเดอ โบโนเกี่ยวกับเทคนิคนี้กันครับ!

หมายเหตุ: P แทน พิธีกร D แทนคุณเดอ โบโน

image
Edward De Bono

image

Piteegorn

 

P: สวัสดีครับ คุณเอ็ดเวิร์ด เดอ โบโน ยินดีต้อนรับเข้าสู่ Innovative Blog ของเราครับ

D: ครับ สวัสดีครับ คุณ..เอ่อ..

P: พิธีกร ครับ (ยิ้ม)

D: เอ้อ.. ครับ สวัสดีครับ คุณพิธีกร ผมเดอ โบโน รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับเชิญมาพูดใน blog ของคุณ

P: เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เรามาเริ่มกันเลยดีกว่าครับ ก่อนที่จะถามเกี่ยวกับทฤษฎีอันเลื่องชื่อของคุณ ขออนุญาตถามเรื่องส่วนตัวเล็กน้อย ไม่ทราบว่าคุณเดอ โบโน เต็มใจที่จะตอบมั้ยครับ?

D: สบายมากครับ ว่ามาเลย

P: มีคนบอกว่าคุณเดอ โบโน เป็นญาติห่างๆกับโบโน วง U2 ไม่ทราบว่าจริงเท็จแค่ไหน อย่างไรครับ?

D: ครับ คือโบโน เป็นหลานของลูกของปู่คนที่สามของแม่ผมน่ะครับ แต่..เอาเถอะครับ มันไม่สำคัญเท่าไหร่ ผมก็ไม่เข้าว่ามันเป็นประเด็นขึ้นมาได้ยังไง เอาเป็นว่า คุณพิธีกรช่วยเข้าเรื่องเลยดีกว่าครับ

image

P: โอเคครับ มาเข้าเรื่องของเรากันดีกว่า วันนี้ผมจะถามคุณเกี่ยวกับเรื่อง “การคิดแบบหมวกหกใบ” ของคุณ ที่ตีพิมพ์เป็นหนังสือในปี 1985 ไม่ทราบว่าทำไมต้องเป็นหมวกหกใบล่ะครับ? ทำไมไม่เป็นทีวีเจ็ดเครื่อง หรือ เป็ดหกพันเก้าร้อยเจ็ดสิบห้าล้านตัว?

D: ตอบทีละคำถามละกันนะครับ เหตุผลที่ผมเลือกหมวกเพราะว่า หนึ่ง หมวกเป็นสัญลักษณ์ทางสังคมอย่างหนึ่ง สอง หมวกสามารถสวมใส่ หรือถอดออกง่าย และสาม หมวกเป็นอะไรที่เข้าใจง่าย ทุกคนรู้จักหมวก..

หลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจครับ แต่ลองฟังเทคนิคการคิดของผมก่อน แล้วย้อนกลับมาคิดตามใหม่ ก็จะเข้าใจที่ผมพูดครับ

ส่วนเหตุผลที่ทำไมต้องเป็นเลขหก ก็สืบเนื่องมาจากผลการวิจัยของนักจิตวิทยาบอกไว้ว่าคนทั่วไปจะจำสิ่งของหรือตัวเลขได้อย่างแม่นยำ ถ้าสิ่งของหรือตัวเลขนั้นมีจำนวนอยู่ในช่วงระหว่าง 5-7 ชิ้น(หลัก) แต่เหตุที่ผมเลือกหกเพราะว่าผมเผื่อที่ไว้ให้หมวกอีกใบที่ผมยังคิดไม่ออกในตอนนี้

P: โอ้โห! เป็นอะไรที่ลึกซึ้งมากครับ ผมนึกว่าที่คุณเลือกหมวกเพราะว่าคุณหัว…ซะอีก (ฮา)

D: ไม่ขำครับ (หงุดหงิด)

P: ฮ่ะๆ ล้อเล่นครับ (ฮา) ต่อครับ..อยากทราบว่าหมวกทั้งหกใบของคุณมีอะไรบ้าง และแต่ละใบเกี่ยวข้องกับการคิดอย่างไร?

D: อ่าครับ..ก่อนอื่นขอกล่าวสั้นๆเกี่ยวกับการคิดแบบหมวกหกใบก่อน เริ่มจากเรามีปัญหาที่ต้องแก้ไข หรือหัวข้อที่ต้องอภิปราย ที่เราต้องการหาทางแก้ หรือทางออก หมวกแต่ละใบแทนมุมมองในด้านต่างๆที่มีต่อปัญหานั้น โดยแบ่งตามสีหมวก ดังนี้..

image

 

หมวกสีขาว คือหมวกแห่งข้อเท็จจริง มองว่าข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับปัญหาของเรามีอะไรบ้าง? ต้องมองอย่างเป็นกลาง ไม่ใส่อารมณ์ ความรูสึกใดๆ

image

 

หมวกสีเหลือง คือหมวกแห่ง Positive Thinking มองหาด้านบวก/ข้อดี/ผลประโยชน์ของประเด็นที่กำลังพูดถึง

image

 

หมวกสีแดง คือหมวกแห่งอารมณ์ ไม่ต้องคิด ไม่ต้องมองหา รู้สึกยังไง พูดก็ออกมาอย่างนั้น เอาความรู้สึกแวบแรกที่เข้ามา

 image

หมวกสีเขียว คือหมวกแห่งความคิดสร้างสรรค์ ใช้ความคิดสร้างสรรค์ แก้ไขปัญหา โดยการหาทางออกร่วมกันที่ทุกฝ่ายพอใจ

 

image

 

หมวกสีดำ คือหมวกแห่งการระแวดระวัง มองหาข้อเสีย ข้อควรระวัง ตั้งข้อสงสัยในประเด็นที่กำลังพูดถึง

 

image

 

หมวกสีน้ำเงิน คือหมวกแห่งการควบคุม ทำหน้าที่ควบคุมหมวกสีอื่นๆ ควบคุมการถอดหมวกใส่หมวก เปรียบเสมือนประธานในที่ประชุม

 

ครับ ไม่ยากใช่มั้ยครับสำหรับหมวกแต่ละสี ข้อแนะนำในการใช้คือ ทุกคนควรใส่หมวกให้ครบทุกใบ ในตอนแรกทุกคนมองไปในมุมเดียวกัน แต่ในที่สุด ทุกคนจะมองครบทุกมุม

P: โอ้ววววววว มหัศจรรย์มากครับ เป็นเทคนิคง่ายที่ได้ผลดีจริงๆด้วย ทำให้เกิดการคิดอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่ทุกคนมานั่งเถียง นั่งค้านกันในเรื่องไร้สาระ แถมผลสุดท้ายนอกจากจะเสียเวลา แล้วยังไม่ได้ข้อสรุปอะไรอีกด้วย ก็อยากจะฝากเทคนิคอันนี้ให้ทุกคนไปใช้ในชีวิตประจำวัน

D: ถูกต้องครับ เอ๊ะ..คุณนี่ พูดจามีสาระก็เป็นเนอะ..

P: แหะๆ..วันนี้ก็ต้องขอขอบคุณคุณเดอ โบโน มากนะครับ ที่มาให้สาระดีๆมีประโยชน์ ใน blog ของเรา ขอบคุณมากครับ (sfx: เสียงปรบมือ)

ครับ สุดท้ายนี้ คุณเดอ โบโน มีอะไรจะฝากถึงผู้ชมทางบ้านมั้ยครับ?

D: หนังสือ Six Thinking Hats ของผม สามารถซื้อได้ตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป อย่าลืมไปอุดหนุนกันด้วยล่ะครับ ถ้าหาไม่เจอจริงๆแนะนำให้สั่งซื้อผ่าน amazon ครับ ขอบคุณมากครับ